ประวัติกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ก่อให้เกิดภาวการณ์ว่างงานเพิ่มมากขึ้น คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงกำหนดนโยบายหลักในการบำรุงความสุขของ ราษฎรในทางเศรษฐกิจและหางานให้ราษฎรทุกคน เพื่อมุ่งเน้นขจัดปัญหาการว่างงาน ดังนั้น จึงมีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยสำนักจัดหางาน พ.ศ. 2475 และพระราชบัญญัติสำนักงานจัดหางานประจำท้องถิ่น พ.ศ. 2475 พร้อมกับการปรับปรุงกฎหมายด้านแรงงาน และจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาบริหารให้เกิดผลในทางปฏิบัติ โดยแผนกจัดหางาน กองทะเบียน กรมปลัดกระทรวงมหาดไทย นับเป็นหน่วยงานแรกที่มีบทบาทในการบริหารแรงงานอย่างชัดเจน
นับแต่นั้นเป็นต้นมา หน่วยงานด้านบริหารแรงงานจึงได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ด้วยปริมาณงานในด้านแรงงานที่ขยายตัวมาโดยตลอด เมื่อเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504 – 2509) หน่วยงานที่ทำหน้าที่ด้านบริหารแรงงานขณะนั้นคือ กองแรงงานจึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นส่วนแรงงานในปี พ.ศ. 2505 และในปี พ.ศ. 2508 ได้รับการยกฐานะเป็นกรมแรงงานภายใต้สังกัดกระทรวงมหาดไทย ทำหน้าที่ในการบริหารแรงงาน การคุ้มครองแรงงาน การแรงงานสัมพันธ์ การพัฒนาฝีมือแรงงาน การจัดหางาน และกองทุนเงินทดแทนต่อมาในปีพ.ศ. 2533 รัฐบาลพิจารณาเห็นว่าแรงงานควรมีความมั่นคงในชีวิตด้วยระบบประกันสังคม จึงได้จัดตั้งสำนักงานประกันสังคม และโอนภารกิจด้านกองทุนเงินทดแทนของกรมแรงงานให้กับสำนักงานประกันสังคม
ภารกิจของกรมแรงงานได้ทวีความสำคัญมากขึ้น โดยลำดับ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 เป็นต้นมา รัฐบาลหลายสมัยได้พยายามยกฐานะกรมแรงงานขึ้นเป็นกระทรวงแรงงาน แต่ประสบกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลทุกครั้ง จนกระทั่งวันที่ 28 มกราคม 2535 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ยุบเลิกกรมแรงงานและจัดตั้งหน่วยงานในสังกัด กระทรวงมหาดไทยขึ้นใหม่ 2 หน่วยงาน คือ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ทำหน้าที่ดูแล รับผิดชอบ บริหารการคุ้มครองแรงงานและการแรงงานสัมพันธ์ และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ บริหารงานการส่งเสริมการมีงานทำ ได้แก่ การพัฒนาฝีมือแรงงาน และการจัดหางาน พร้อมทั้งอนุมัติในหลักการให้เตรียมดำเนินการจัดตั้งกระทรวงแรงงานและ สวัสดิการสังคมต่อไป
การดำเนินการจัดตั้งกระทรวงแรงงานและ สวัสดิการสังคมประสบผลสำเร็จในปี พ.ศ. 2536 โดยรัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติโอนอำนาจหน้าที่และกิจการบางส่วนของกระทรวง มหาดไทยไปเป็นของกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม พ.ศ. 2536 อันมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2536 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจึงได้เป็นส่วนราชการภายใต้สังกัดกระทรวง แรงงานและสวัสดิการสังคม
ในช่วงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจและแรงกดดันต่างๆ ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมภายใน ประเทศ ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2542 เห็นชอบให้มีแผนปฏิรูประบบบริหารราชการภาครัฐ เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบบริหารภาครัฐไปสู่รูปแบบการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2545 รัฐบาลจึงได้ตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 และพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐมีการบริหารราชการแผ่นดินอย่างเป็นระบบ มีการกำหนดรูปแบบการจัดโครงสร้างและปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานใหม่ให้ ชัดเจน เป็นผลให้มีการปรับกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมไปเป็นกระทรวงแรงงาน โดยโอนงานด้านประชาสงเคราะห์ไปยังกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของ มนุษย์ ดังนั้น กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจึงเป็นส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงานนับ ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2545 เป็นต้นมา
รายนามผู้ดำรงตำแหน่งแรงงานจังหวัดนครปฐม/สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครปฐม
1. นายสันต์ ปั้นสังข์ 16 ม.ค.2517-31 ม.ค.2524
2. นายกวี โรจนพันธ์ 1 ก.พ.2524-18 พ.ย.2526
3. นายนาถ ทองสมบุญ 19 พ.ย.2526-15 เม.ย.2529
4. นางสาวอาภา จันทราศรี 16 เม.ย.2529-9 พ.ค.2531
5. นายจุฑาธวัช อินทรสุขศรี 10 พ.ค.2531-29 มี.ค.2533
6. นายสถาพร จารุภา 30 มี.ค.2533-30 พ.ย.2533
7. นายปรีชา ศรีพงษ์กุล 1 ธ.ค. 2533-23 ต.ค.2534
8. นางโชติรัตน์ ศรีเวศร์ 24 ต.ค. 2534-2 พ.ค.2538
9. นายณัฐวัตร มนต์เทวัญ 18 มี.ค.2537 รักษาการ
10. นายพิสิษฐ์ จงสถาวรวงษ์ 3 พ.ค.2538-30 ก.ย.2542
11. นายทองใบ ทองคำ 6 ต.ค.2542-30 ก.ย.2550
12. นายดำรงค์ เปรมสวัสดิ์ 1 ต.ค.2550-13 พ.ย.2552
13. นายสุวิชาน แพทย์อุดม 16 พ.ย.2552-31 ม.ค.2556
14. นายสมภพ ปราบณรงค์ 1 ก.พ.2556-20 เม.ย.2557
15. นายยุทธการ โอวาสิทธิ์ 21 เม.ย.2557-18 มิ.ย.2558
16. นายพันธ์ศักดิ์ ศรีนุชศาสตร์ 23 มิ.ย.2558-15 พ.ย.2558
17. นางจิระภา ดวงดี 16 พ.ย.2558-30 ก.ย.2563
18. นายธงชัย อินทพงษ์ 1 ต.ค. 2562 รักษาราชการ
19. นางสาวสุภาพร โพธิ์มัจฉา 16 ธ.ค.2562 – 15 ก.ย.2563
20. นายอุดม หฤษฏ์วงศ์ 16 ก.ย.2563-2 พ.ย. 2563
21. นางปภาพร นิลพัฒน์ 3 พ.ย.2563-ปัจจุบัน
************************************************************